Page 79 - Microsoft Word - PAAT Journal V5-2021-awt-v2
P. 79
PAAT Journal Vol. 3 No. 5, June 2021
ได้ชัด ทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย พบกับปัญหาที่สําคัญอยู่หลายประการ คือ (กรมส่งเสริมการ
ปกครองท้องถิ่น, 2558)
ประการแรก การขาดกลไกในการประสานเชื่อมโยงองค์กรปกครองท้องถิ่นในที่ซ้อนกันทั้ง 2
ระดับที่มีประสิทธิภาพ ทําให้การประสานและเชื่อมโยงแผนการพัฒนาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละ
ระดับไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้น การเชื่อมโยงและประสานแผนพัฒนาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับ
ราชการส่วนภูมิภาคก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง การกําหนดให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งทางตรง
และมีความเข้มแข็งนั้น ทําให้เมื่อสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ทั้งคู่ และกฎหมายกําหนดให้ฝ่ายบริหาร ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาท้องถิ่น สภาท้องถิ่นจึงทําได้เพียงการเปิด
อภิปรายโดยไม่มีการลงมติ
ประการที่สาม การกําหนดขนาดโครงสร้างของสภาท้องถิ่น ที่ไม่สอดคล้องกับประเภทของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลกระทบต่องบประมาณขององค์การบริหารส่วนตําบล เพราะมีนัยยะต่อ
ค่าตอบแทนของสมาชิก
ประการที่สี่ การผูกขาดการใช้อํานาจในการบริหารงานท้องถิ่น กฎหมายได้จํากัดวาระของ
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ไม่ให้ดํารงตําแหน่งได้เกิน 2 วาระติดต่อกัน ส่งผลให้ผู้สมัครหลายคนถูก
ตัดสิทธิ์ และนับเป็นการปิดกั้นทางการเมืองและปิดกั้นผู้บริหารที่มีความสามารถและมีประสบการณ์
ศาสตราจารย์จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า
ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อํานาจที่เข้มข้น เป็นต้นเหตุให้การบริหารของรัฐล้มเหลว เกิดวงจรอุบาทว์ เพราะ
เงินมากองอยู่ที่ส่วนกลางไม่ยอมปล่อยมาถึงประชาชน หากไม่มีการแก้ไขเรื่องการกระจายอํานาจประเทศไทย
จะไม่ก้าวหน้า หลายจังหวัดเป็นเมืองใหญ่แต่ไม่สามารถพัฒนาไปได้เพราะต้องรอส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกฐานะจังหวัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แบ่งเขต
การปกครองเป็นเทศบาล ให้จังหวัดและเทศบาลจัดระบบงบประมาณกันเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นนัก
บริหารมืออาชีพ ในช่วงแรกให้ใช้วิธีสรรหาและแต่งตั้งก่อน เพื่อวางรากฐานการบริหารให้เป็นระบบและ
เข้มแข็ง จากนั้นจึงให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี
ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การปกครองส่วนกลาง
และส่วนท้องถิ่น แต่ประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระดับ โดยเพิ่มการปกครองส่วนภูมิภาคเข้ามาด้วย ส่วนภูมิภาค
ปกครองโดยข้าราชการ ซึ่งส่วนกลางเป็นผู้แต่งตั้ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ และ
ส่วนภูมิภาคมีอํานาจกํากับดูแลส่วนท้องถิ่น ประเทศไทยจึงกลายเป็นรัฐรวมศูนย์อย่างเข้มข้น ตามคํากล่าวของ
นักวิชาการเพราะส่วนกลางมีอํานาจควบคุมทั้งหมด ทั้งการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
ทุกครั้งที่พูดถึงการปฏิรูปการปกครองประเทศ จะต้องมีเสียงเรียกร้องให้กระจายอํานาจ แต่ส่วน
ใหญ่เป็นเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและนักการเมืองบางส่วน แต่ไม่เคยมีการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นอย่าง
แท้จริง เป็นแค่กระจายอํานาจสู่ข้าราชการในส่วนภูมิภาค การกระจายอํานาจจะสําเร็จได้ ต้องมีพรรคการเมือง
เป็นเจ้าภาพ พรรคไหนจะรับเป็นเจ้าภาพ สาเหตุสําคัญที่รวมศูนย์อํานาจ เพราะการหวงอํานาจและอ้างว่า
ประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนที่
แท้จริง
ธเนศวร์ เจริญเมือง (2551) ได้อธิบายถึงความล่าช้าของการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นของไทย
ในช่วงปี 2540-2550 ว่ามีสาเหตุที่สําคัญ ซึ่งสามารถสรุปเป็นมิติของปัญหาได้ดังต่อไปนี้
72 สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย