Page 82 - Microsoft Word - PAAT Journal V5-2021-awt-v2
P. 82
PAAT Journal Vol. 3 No. 5, June 2021
การประเมินผลการกระจายอํานาจของไทยระยะ 15 ปี : เหลียวหลังและมองไปข้างหน้า โดย : วีระศักดิ์
เครือเทพและจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากสํานักงานปลัดสํานัก
นายกรัฐมนตรี โดยสํานักงานคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทําการ
ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของการกระจายอํานาจของไทย โดยต้องการประเมินผลสําเร็จ
และปัญหาอุปสรรคของการกระจายอํานาจในรอบ 15 ปี (พ.ศ.2540-2556) ว่าเป็นเช่นใด และใช้ข้อมูลจาก
กลุ่มตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท (อบจ. เทศบาล อบต. ยกเว้น กทม.) ในทุกภูมิภาค ซึ่งสุ่ม
ขึ้นตามสัดส่วนของ อปท. แต่ละประเภท รวมทั้งหมด 110 แห่ง และมีทั้งท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลฯ และท้องถิ่น
ทั่วไป ทีมงานได้ส่งคณะนักวิจัยไปจัดเก็บข้อมูลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสํารวจความคิดเห็นของ
ประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ก็เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการดําเนินนโยบายการกระจายอํานาจของส่วนราชการ
ในระดับชาติควบคู่กันไป
การกระจายอํานาจที่ผ่านมา ประสบความสําเร็จหรือล้มเหลว
ในภาพรวมถือว่าการกระจายอํานาจ 15 ปีที่ผ่านมาประสบผลสําเร็จพอสมควร แต่ใน
ขณะเดียวกัน ก็มีหลายส่วนที่ยังไม่ประสบผลสําเร็จผลสําเร็จที่ชัดเจน ผลสําเร็จประการแรกคือ องค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทําให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จําเป็นขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะบริการ
การศึกษาและสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึง ซึ่งมีความแตกต่างจากช่วงก่อนการกระจายอํานาจ (ก่อนปี
พ.ศ. 2540) อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานรากที่เดิมขาดแคลนโอกาสที่จะเข้าถึงบริการ
สาธารณะที่จําเป็น
เมื่อมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลังยุคกระจายอํานาจ บริการที่จัดให้ประชาชนเป็นไปอย่าง
กว้างขวางและลดความเหลื่อมล้ําในโอกาสที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดและ
พื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น จึงส่งผลทําให้การสํารวจข้อมูลครัวเรือนกว่า 11,430 ครอบครัว พบว่า ประชาชนส่วน
ใหญ่พอใจในผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณะหลายอย่างทําให้คุณภาพชีวิตประชาชน
ดีขึ้น และภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่น และมีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเท่ากับว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทําหน้าที่เป็นสถาบันทางการเมือง
ที่มั่นคงได้แล้วสําหรับประชาชนในชุมชน
ข้อบ่งชี้ถึงผลสําเร็จประการต่อมา คือการวางรากฐานระบบการกระจายอํานาจ ให้สามารถ
ดําเนินการอย่างต่อเนื่องมาได้ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีการรับรองสิทธิการปกครองตนเองของชุมชน
ท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายประกอบอื่นๆ มีหน่วยงานรับผิดชอบนโยบายการกระจายอํานาจ มี
แผนงาน งบประมาณและระบบปฏิบัติการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน
แต่สําหรับเรื่องที่ยังไม่ประสบผลสําเร็จที่ชัดเจนก็คือ การถ่ายโอนภารกิจ ทรัพยากรบุคคลและ
รายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งหยุดชะงักไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทในการ
บริหารจัดการเมืองและชุมชนของตนเองในขอบเขตที่จํากัดเป็นอย่างมาก ในขณะที่เมืองในภูมิภาคต่างๆ กําลัง
ขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (urbanization) พร้อมปัญหาการบริหารจัดการเมืองที่เพิ่มทวีขึ้น แต่องค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากขาดอํานาจและทรัพยากรในการ
ดําเนินการ
75 สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย